เดินเล่นบนหลังช้าง ที่ “เขาช้างเผือก”
“เขาช้างเผือก ” เส้นทางเดินป่าระยะไกลและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ใหม่ แต่กำลังเป็นสถานที่ฮอตฮิตติดลมบน ของนักเดินป่ามือใหม่ และมือฉมังทั้งหลาย อีกทั้งยังขึ้นชื่อได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไปยากที่สุดที่หนึ่งในขณะนี้อีกด้วย
อย่าเพิ่งตกอกตกใจกันไปว่าเขาช้างเผือกนั้นมีเส้นทางที่โหดร้ายอะไรมากมาย ที่ล่ำลือกันว่าไปยากนั้นเพราะทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอนุญาติจำกัดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปพักได้คืนล่ะไม่เกิน 60 คนเท่านั้น เนื่องด้วยพื้นที่ในการตั้งแค้มป์ด้านบนมีเพียงกระหยิบมือเดียว แต่พื้นที่กระหยิบมือเดียวนั้นก็อัดแน่นไปด้วยทัศนียภาพที่สวยบาดจิตบาดใจ ชนิดที่ต้องแย่งชิงกันอย่างดุเดือน นอกจากพื้นที่ในการตั้งแค้มป์จะจำกัดแล้วนั้น จำนวนวันเวลาที่ทางอุทยานเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมงามๆ ของเขาช้างเผือกได้ ยิ่งจำกัดมากกว่า เพราะเขาช้างเผือกเปิดให้ท่องเที่ยวเข้าชมได้เพียงปีล่ะ 3 เดือนเท่านั้น!...
ดูช้างป่ากุยบุรี ซาฟารีสุดสัปดาห์
ขึ้นห้าง
รถแลนด์โรเวอร์ของเราทั้งสองคัน วิ่งตามกันไปบนถนนดินที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำฝนที่ตกลงมาปรอยๆเกือบทั้งวัน เส้นทางในป่านั้นยาวประมาณห้ากิโลเมตรวิ่งเป็นวงรอบในเขต“ป่าพิเศษ”ผืนนี้ สองข้างทางที่เราวิ่งผ่านเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้าเขียวขจี
หลังจากรถทั้งสองคันดิ้นสลัดหลุดจากปลักโคลนตื้นๆขึ้นมาพ้นเนิน ผมก็ชะลอรถลงก่อนจะถึงต้น มะขามใหญ่ที่อยู่ด้านหน้า
“ห้างที่เราจะนั่งกันอยู่บนต้นมะขามนั้นครับ” ผมพูดขึ้นกับพี่ใหญ่ เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่พาครอบครัวเดินทางมาด้วยกันในครั้งนี้ น้องอิงวัยแปดขวบและน้องอังวัยห้าขวบ ลูกชายสองคนของพี่ใหญ่ ตื่นเต้นเป็นพิเศษเพราะมาเที่ยวป่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีคำถามให้คุณแม่คอยตอบอยู่ตลอดเวลา
“ห้าง” ดูสัตว์ในป่านั้นแตกต่างจาก “ห้าง”สรรพสินค้าในกรุงที่ทั้งสองเด็กคุ้นเคยมากนัก สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าจะเรียกว่าเป็นแคร่ลอยฟ้าที่สร้างอยู่บนยอดไม้ก็พอได้ ในป่าพิเศษแห่งนี้มีห้างดูสัตว์กระจายอยู่ตามบ่อน้ำหรือโป่งดินถึงสิบกว่าห้าง วันนี้เราเลือกมานั่งรอดูสัตว์กันห้างที่เรียกกันว่า“บ่อห้า” เนื่องด้วยเป็นบริเวณที่มีทั้งทุ่งหญ้าและบ่อน้ำอยู่ติดชายป่า นอกจากนี้ยังเป็นห้างที่นั่งได้หลายคนและปีนขึ้นง่ายที่สุดอีกด้วย
บันไดไม้ที่สร้างอย่างแข็งแรงพาเราขึ้นไปบนห้างที่สร้างไว้บนต้นะขามใหญ่สูงจากพื้นราวสี่เมตร แม้จะดูสูงมากยามปืนป่าย เมื่อนั่งข้างบนแล้วกลับรู้สึกว่าห้างนั้นเตี้ยเหลือเกินถ้าหากฝูงช้างป่ามาปรากฎอยู่ตรงหน้า
และการรอคอยอย่างใจจดจ่อก็เริ่มขึ้น
ป่าพิเศษ
“ป่าพิเศษ” ที่เรากำลังอยู่นี้ไม่ใช่ป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่หากเป็นในผืนป่าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ป่ากุยบุรีก็เหมือนกับป่าอื่นๆในประเทศไทยที่เคยมีอดีตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าดิบดงทึบและสัตว์ป่า แต่เมื่อเราใช้ทรัพยากรกันอย่างลืมตัวเพียงไม่กี่ปี ป่าที่เคยมีอยู่นับร้อยนับพันปีก็หายไปหมดสัตว์ป่าก็แทบไม่มีเหลือให้เห็น
กว่าที่จะมีการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พื้นที่เกือบทั้งหมดก็ผ่านการทำสัมประทานตัดไม้ใหญ่ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือป่าที่ราบทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ถูกจับจองไปเป็นไร่สัปปะรดจนหมดสิ้น พื้นที่อุทยานที่กันไว้ได้จึงเหลือแต่เพียงพื้นที่เขาลาดชันซึ่งเชื่อมต่อไปยังเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนชายแดนพม่า
เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกพื้นที่ของโลก เมื่อสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมถึงขีดสุดก็นำมาซึ่งสงครามแย่งชิงทรัพยากรที่เหลืออยู่ แต่ในครั้งนี้เป็นการเกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า
จุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งย้อนไปตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2525-2528 ที่มีการขยายพื้นที่เพื่อปลูก สับปะรดในพื้นที่ราบเกือบทั้งหมดจนติดขอบป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี(ในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี) แต่ในปลายช่วงเวลานั้นเอง ราคาสับปะรดเกิดตกต่ำจนเจ้าของไร่ต้องทิ้งร้าง เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเคลื่อนย้ายจากภูเขาลงมา ช้างป่าเดินผ่านได้เข้าไปกินสับปะรดและรู้จักรสชาติอันหอมหวานเป็นครั้งแรกเนื่องจากไม่มีเจ้าของไร่เฝ้าอยู่
หลังจากนั้นมาเป็นช่วงเวลาที่ราคาสับปะรดสูงขึ้นอีกครั้ง เจ้าของไร่จึงกลับเข้ามาปลูกสับปะรด ประกอบกับเหตุการณ์สู้รบทางฝั่งประเทศพม่าทวีความรุนแรงขึ้น ช้างป่าจึงต้องอพยพเข้ามาติดเกาะอยู่ในป่าเขตไทย ด้วยความที่ป่าเขตนี้เหลือแต่เพียงพื้นที่ภูเขาสูงชันและถูกล้อมไว้ด้วยไร่สับปะรดทำให้เร่ิมมีช้างป่าเริ่มออกมาหากินในไร่บ่อยครั้งมากขึ้นจนชาวไร่ต้องนอนเฝ้าคอยไล่ช้างในเวลากลางคืน
การขัดแย้งมารุนแรงที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 ที่ช้างป่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาหากินบริเวณชายป่าใกล้ไร่สับปะรดนานขึ้น ปรากฏตัวนอกพื้นที่ป่ามากขึ้นจนนำไปสู่พฤติกรรมหากินในพื้นที่เปิดโล่งติดกับไร่สับปะรดทุกวัน และเข้ามากินสับปะรดของชาวไร่ในเวลากลางคืนเกือบจะทุกคืน กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า ที่สำหรับชาวไร่อาจะหมายถึงการสิ้นเนื้อประดาตัวในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน และสำหรับช้างคือการบาดเจ็บหรือสูญเสียถึงชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าวมีช้างป่าถูกทำร้ายจนตายนับสิบตัวจนเป็นข่าวใหญ่โตทางหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นจุดที่คนไทยรู้จักกุยบุรีเป็นครั้งแรก ข่าวนั้นดังเหมือนพลุ แล้วก็ดับเงียบไปเช่นเดียวกับพลุ ขณะที่คนส่วนใหญ่ลืมข่าวช้างตายที่กุยบุรีไปในไม่กี่วัน แต่ความขัดแย้งยังคงอยู่
นับเป็นโชคดีของชาวไร่กุยบุรีและช้างป่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปัญหานี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว เพื่อที่ช้างป่าจะได้ไม่ออกมารบกวนพื้นที่ให้เสียหาย ไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนและช้างอีกต่อไป จึงได้เกิด โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2541
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่พระองค์ท่านทรงชี้แนะนั้นไม่ได้ทำด้วยการตัดสินว่าใครถูกใครผิด ใครบุกรุกพื้นที่ใครต้องย้ายออก แต่หากเป็นการสร้างความสมบูรณ์ของพื้นที่ให้ช้างและคนอยู่ร่วมกันได้ โดยที่มิได้ต้องทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินลงไปให้เกินเลย
หัวใจสำคัญของโครงการณ์นี้เริ่มที่การสร้างแหล่งอาหารให้กับช้าง โดยมีการกันพื้นที่ราบในร่องหุบเขาตอนเหนือประมาณ สองหมื่นไร่ให้เป็นพื้นที่อาศัยของช้าง จากนั้นจึงสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารโดยการขุดบ่อ, สร้างฝายขนาดเล็ก, สร้างโป่งเทียม และปลูกพืชอาหารในพื้นที่นั้น เพื่อให้มีอาหารและน้ำที่เพียงพอทั้งปีสำหรับช้างและสัตว์ป่าอื่นโดยที่ไม่ต้องออกมาหาอาหารนอกพื้นที่
ในขณะเดียวกันก็มีการช่วยเหลือชาวไร่โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อจะได้มีน้ำสำหรับเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีและมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โครงการพระราชดำรินี้ไม่ได้ทำกันอย่างอภิมหาโปรเจค แต่หากเป็นการร่วมมือและเอาใจใส่จากหลายฝ่ายตามแนวทางพระราชดำริที่ทรงชี้แนะให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเฝ้าดูแลให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาเอง ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ในเวลา10 ปีที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างแม้จะไม่ถึงกับสลายไปเสียทั้งหมด แต่ก็บรรเทาลง ถึงแม้จะมีช้างออกมายังไร่สับปะรดนอกพื้นที่บ้างแต่ก็ลดน้อยลงมาก นอกจากนี้ผืนป่ากุยบุรีได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และพลิกฟื้นจากพื้นที่ๆมีปัญหารุนแรงกลับมาเป็นแหล่งสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
จากการสำรวจครั้งล่าสุด อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีช้างกว่า 160 ตัว กระทิงกว่า 60 ตัว มีความสมบูรณ์ของสัตว์ผู้ล่าทั้งเสือโคร่งและเสือดาว และส่วนใหญ่ก็อยู่ใน “ป่าพิเศษ” แห่งนี้
“ป่าพิเศษ” ที่ในหลวงทรงพระราชทานให้กับเราทุกคน
ช้าง
การรอคอยสองชั่วโมงนั้นอาจไม่ยาวนานเมื่อเทียบกับเวลาสิบปีที่ใช้ในการฟื้นฟูป่าผืนนี้ แต่ก็เป็นเวลายาวนานมากสำหรับเด็กวัยกำลังซนสองคนที่จะต้องพยายามนั่งนิ่งๆเงียบและคอยสอดส่องสายตาหาช้างในพื้นที่ป่ารอบตัว
“นั่น ไงครับป่ะป๊า ช้าง ๆ” น้องอังหน้าตาตื่น ชี้ไปที่ชายป่าที่ส่องกล้องดูอยู่เมื่อครู่
“จุ๊ จุ๊” น้องอิงเอามือจ่อปากส่งสัญญาณให้น้องชายเบาเสียงลง
ช้างป่าตัวนั้นเดินอยู่ในพงไม้ชายป่า อีกฟากหนึ่งของบ่อน้ำ การเฝ้าดูช้างป่าในธรรมชาติ ต่างกันมากกับการเห็นช้างเดินอยู่บนถนนกลางเมืองใหญ่เดินดึงใบไม้ใบหญ้าข้างทางเข้าปากบอกให้รู้ถึงอากัปกริยาที่ผ่อนคลาย ร่างกายใหญ่โตที่ปราศจากพันธนาการใดๆบ่งบอกถึงอิสรภาพในป่าใหญ่ซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริง ช้างตัวนั้นชูงวงพ่นลมไล่แมลงบนหลัง และสะบัดหัวไปมา
หลังจากเดินให้ยลโฉมอยู่พักใหญ่ช้างป่าตัวโตก็หลายกลืนเข้าไปในดงไม้ด้านหลัง
“ป่ะป๊าครับ ลองเอามือจับหน้าอกอิงดูซิครับ ใจเต้นตุ๊บๆ เลย เมื่อไหร่เขาจะออกมาให้เห็นชัดๆล่ะครับ”
“รอดูอีกสักพักซิครับ เดี๋ยวเขาอาจจะลงมาที่บ่อน้ำ”
“ไม่ไหวแล้วครับ อังตื่นเต้นจนปวดฉี่แล้วครับ ป่ะป๊า”
อ้าว แล้วกัน
แค้มป์อันอบอุ่น
จากการไปนั่งห้างเฝ้าดูช้างที่หน่วยป่ายาง ก่อนที่จะมืดสนิทเราขับรถมาตั้งแค้มป์กันที่ชายป่าในที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่ห่างออกมาประมาณ 15 กิโลเมตร ที่นี่นอกจากจะมีลานโล่งบรรยากาศดีสำหรับกางเต๊นท์และมีห้องน้ำสะอาดอยู่ไม่ไกลแล้ว ยังปลอดภัยจากฝูงช้างป่าอีกด้วย
“ป๊ะป๊าครับ แบตเตอรี่หมดแล้วครับ”น้องอัง หนุ่มน้อยวัยห้าขวบเดินน้ำตาคลอออกมาจากเต๊นท์ ในมือเขามีเครื่องเล่นเกมส์ขนาดกระทัดรัดที่กำลังนิยมกัน
“ป๊ะป๊า” ปลอบลูกชายคนเล็กแต่ในแววตาแฝงไว้ด้วยเสียงหัวเราะอย่างถูกใจที่ลูกชายจะเลิกเล่นเกมส์ที่ติดงอมแงม แล้วมาสนใจธรรมชาติรอบข้างบ้าง
เด็กเดี๋ยวนี้โตขึ้นมากับเกมส์คอมพิวเตอร์ และรายการโทรทัศน์ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในชีวิตประจำวันของคนที่เป็นพ่อแม่ วันคืนดูเหมือนจะหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอนิดเดียวหมดเดือน เผลออีกทีก็หมดปี บางคนลืมตัวไปนิดเดียวลูกชายลูกสาวที่วันธรรมดาไปโรงเรียน เสาร์-อาทิตย์ไปเรียนพิเศษก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาว
ป่ากุยบุรีเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ให้เราเห็นว่า เพียงเราเผลอใช้ธรรมชาติกันไม่กี่ปี ความสมบูรณ์ของป่าใหญ่ก็หมดลงเพียงชั่วพริบตาและต้องใช้ความตั้งใจ, ความทุ่มเท และเวลากว่าสิบปีที่จะฟื้นคืนกลับมาถึงจุดนี้ แต่โอกาสและเวลาที่ดีๆที่เราจะมีกับลูกในวัยเด็กเล่า หากสูญเสียไป เงินทองและความพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถเรียกวันคืนเหล่านั้นกลับมา
แสงตะเกียงส่องสว่างนวลไปทั่วแค้มป์ ความมืดเข้าปกคลุมชายป่ารอบด้านจนมืดมิด คืนนี้เมฆหนาลอยเต็มฟ้า เราคงจะต้องเจอฝนอีกแน่
“นั่นเสียงอะไรครับ แม่แหม่ม”
“เสียงวี๊ดๆ นั่นเสียงจิ้งหรีดค่ะ ส่วนเสียงจุ๋งๆ นั่นเสียงนกตบยุง” คุณแหม่มพยายามตอบทุกคำถามของสองเด็ก พร้อมทั้งเอาหนังสือดูนกมาเปิดรูปนกตบยุงให้ดูประกอบจินตนาการ
“ป่ะป๊าครับ หอมจังเลย อิงหิวแล้วครับ” อิงชะโงกดูเตาที่พี่ใหญ่กำลังผัดมาม่ากับเนื้อกระป๋อง
ฝนเริ่มลงโปรยปราย เรานั่งล้อมวงทานอาหารเย็นที่เตรียมอย่างง่ายๆกันใต้ฟลายชี๊ตผืนใหญ่, แสงตะเกียงสว่าง และท่ามกลางเสียงธรรมชาติของป่าดง
บรรยากาศรอบข้างช่วยเจริญอาหารเป็นอย่างดี เรื่องเล่าจากประสบการณ์เดินป่าครั้งก่อนๆจากมิตรสหายที่ผลัดกันเล่ารอบวงอาหารข้างชายป่าทำให้สองเด็กนั่งฟังอย่างตื่นเต้น และรอคอยสิ่งที่จะได้พบเห็นจากการเที่ยวป่าในวันที่จะมาถึง
บางทีความขาดแคลนทางวัตถุของการออกไปนอนป่า อาจช่วยนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและแน่นแฟ้นในครอบครัว
ห้องเรียนธรรมชาติ
“บริเวณนี้มีช้างอยู่ฝูงหนึ่ง 4-5 ตัว แต่เขาไม่ออกมากวนคนหรอก” พิทักษ์ป่า ใจ หนองมีทรัพย์ หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “น้าใจ” ชี้ให้ดูร่องรอยกิ่งไม้หักสดๆ ที่ปากทางเดินป่าไม่ห่างไปจากที่ทำการอุทยานมากนัก
น้าใจ เป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง นอกเหนือไปจากนั้นน้่าใจยังเป็นคนในพื้นที่ เป็นพรานเก่าก่อนที่จะวางปืนมาทำงานอุทยานประสบการณ์เดินป่าแทบนี้กว่าสามสิบปีทำให้น้าใจชำนาญป่าจนรู้จักทางด่านทุกเส้น, ห้วยทุกสาย และต้นไม้ทุกชนิดในป่าแห่งนี้ การเดินป่ากับน้าใจจึงเป็นเสมือนไปกับพจณานุกรมป่าฉบับเคลื่อนที่
“โอ้โฮ้ นี่เราจะเข้าป่าจริงๆแล้วเหรอครับ ลุงใจครับ” การมาของน้องอัง ทำให้น้าใจได้เลือนยศเป็น “ลุง”ซะแล้ว
“ถ้าเราเจอช้างในป่า เราจะทำยังไงครับ”
“ต้องดูเขาดีๆก่อน อย่าส่งเสียงดัง ช้างเขาตาไม่ดี แต่หูดีมาก เขาอาจจะไม่เห็นเราก็ได้ ถึงเขาเห็นเขาก็อาจจะไม่ไล่เราหรอก”
“แล้่วถ้าเขาวิ่งไล่ล่ะครับ
“ปีนขึ้นต้นไม้ซิ”
“แล้วถ้าเขาชนต้นไม้ล้มล่ะครับ”
อ้าว....
คำถามจากเด็กน้อยทั้งสองดูเหมือนจะพรั่งพรู่ออกมาจากความอยากรู้อยากเห็นแบบที่ไม่ต้องไว้ฟอร์มของวัยเด็ก หลายๆคำถามที่ผู้ใหญ่อย่างเรานึกไม่ถึง บางคำถามก็เป็นคำถามที่มีในใจแต่ไม่เคยกล้าถาม
ทางเดินป่าเส้นนั้นพาเราจากป่าโปร่งไปสู่ป่าที่รกทึบขึ้นเรื่อยๆ เด็กสองคนเดินตาม “ลุงใจ” ติดแจคอยฟังเรื่องเล่าของป่าใหญ่ที่มีแทรกการเดินทางอยู่ตลอด
“นี่รอยกระทิง รู้จักมั๊ย” ลุงใจชี้ให้ดูรอยใหม่ๆที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับเรา
“เหมือนรอยวัวบ้านเลย” คราวนี้พี่ใหญ่เป็นคนตั้งข้อสงสัยเอง
“ถ้าสังเกตดูให้ดี รอยเท้าวัวป่าอย่างกระทิง หรือวัวแดง รอยเท้าหลังจะกลม ตรงนี้แหละที่ต่างจากวัวบ้าน”
“ตัวไม่ใหญ่เท่าไหร่มั๊งครับนี่” นายอิงสงสัยเพราะรอยนั้นไม่ใหญ่นัก
“ก็ใหญ่พอดูนะ น่าจะประมาณ 800 กิโลกรัม ล่ะมั๊ง” คำตอบของลุงใจ สร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆไม่น้อย
“เราดูจากขนาดรอยเท้าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องดูระยะก้าวด้วย ระยะก้าวจะบอกความสูงของวัว ทำให้เรากะขนาดตัวเขาได้ใกล้เคียงขึ้น”
ไม่นานนักทางเส้นนั้นก็เลาะเลียบไปกับลำห้วยที่อยู่ทางด้านขวามือ เราใช้เวลาเดินกันแค่ 30 นาที ก็มาถึงลานริมน้ำที่มีชื่อเรียกว่า “แก่งเสลา” น้ำตอนเหนือขึ้นไปนั้นเป็นแก่งเล็กๆไหลแรง จุดที่เรานั่งพักเป็นวังน้ำใสมองเห็นปลาพลวงว่ายอยู่เป็นฝูง เส้นทางเดินป่าสายนี้ยังเดินเข้าไปได้อีกไกลจนถึงน้ำตกหมาหอนใกล้ชายแดนพม่า แต่วันนี้สำหรับการเดินป่าครั้งแรกของสองเด็ก แค่นี้ก็คงเพียงพอ
“นั่งพักกินข้าวกลางวันกันที่นี่นะ เดี๋ยวผมมา ขอไปเดินสำรวจรอบๆสักหน่อย” ลุงใจบอก ขณะที่เราเอาผ้ายางออกมาปูนั่งกัน
สักครู่เดียว ลุงใจก็โบกมือให้เราเดินตามไปทางเหนือน้ำ
เมื่อเราเดินไปถึงริมน้ำในจุดนั้น ลุงใจก็ชี้ให้ดูร่องรอยรอบด้านที่พงไม้แหลกเป็นลานโล่ง”
“นี่รอยช้างกับกระทิง มาหากินด้วยกัน ใบไม้พวกนี้ช้างชอบมาก ก็เจ้าของรอยเท้าที่เราเห็นมาตามทางนั่นแหละ ช้างกับกระทิงเขาชอบเดินหากินด้วยกัน ช้างดึงใบไม้สูงๆลงมา กระทิงก็ได้กินไปด้วย นอกจากนี้ยังพึ่งพากันนะเพราะช้างน่ะหูดี ส่วนกระทิงก็จมูกดีมาก”
เรื่องการพึ่งพากันของช้างและกระทิงนั้นแม้แต่ผมเองก็เคยได้ยินแต่ในนิยายเรื่องป่า เพิ่งจะมาเห็นของจริงก็วันนี้เอง
เรานั่งทานข้าวกลางวันกันที่ริมวังน้ำ อาหารง่ายๆอย่างข้าวเหนียวเนื้อทอดที่เตรียมมาวางอยู่กลางวงดูเหมือนจะอร่อยกว่าอาหารหรูบนเหลาที่ไหนมิตรภาพความผูกพันที่แท้จริงมากมายก็เกิดขึ้นมาจากวงอาหารกลางป่าเช่นนี้
สองเด็กคว้าข้าวเหนียวได้คนละก้อนเนื้อคนละสองสามชิ้นก็แยกไปนั่งดูปลากัน
“ชอบมาเดินป่าอย่างนี้มั๊ยครับอิง” ผมถาม
“ชอบครับ ชอบมากเลย อิงอยากมาที่นี่อีกครับ”
“ได้เลย อาจะพามาอีกนะ คราวหน้าเรามานอนกลางป่ากันเลย” ได้เรื่องแล้ว ผมได้เพื่อนเที่ยวป่าเพิ่มอีกสองคนแล้ว ถึงแม้อายุจะต่างกันมากสักหน่อยก็เถอะ แต่ก็ดีเหมือนกัน เขาอาจจะเป็นคนพาอาคนนี้เที่ยวป่าเมื่อยามแก่เฒ่า
เมื่อได้คุยกับอิงความทรงจำครั้งเก่าของผมก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง แม้เวลาจะผ่านพ้นมาร่วมสามสิบปี ผมยังจำได้ถึงวันที่พ่อพาผมไปเดินป่าเป็นครั้งแรกในวัยใกล้กับอิง ภาพการเดินป่าและความประทับใจนั้นยังคงกระจ่างชัดมาจนวันนี้ มันทำให้ผมมั่นใจเลยว่า หากเราได้มีโอกาสได้พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติที่ห่างการปรุงแต่งของวัตถุในแบบที่เขาประทับใจแล้ว ความทรงจำดีๆนั้นจะอยู่กับเขาไปอีกนาน
ผมเชื่อว่าน้องอิงจะจำการเดินป่าครั้งแรกกับพ่อเขาไปอีกนานเช่นกัน
ขากลับ ลุงใจพาเราวนขึ้นไปบนเขา
“ทางนี้เป็นทางของช้างเดินนะ เรียกว่าด่านช้าง ไม่ได้มีใครมาปรับมาถางทางหรอก แต่ช้างเขาเดินกันจนเป็นทางแบบนี้” ลุงใจอธิบายเรื่องต่างๆให้สองเด็กฟังเกือบตลอดทาง
“นี่รอยเท้าเสือโคร่ง รอยนี้น่าจะเป็นเมื่อวาน” คำบอกนั้นทำให้เราทุกคนเข้าไปมุงดูรอยเท้าที่ใหญ่ราวๆกับฝ่ามือคนกางเต็มที่
“ในเขตอุทยานกุยบุรีนี้มีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 6-7 ตัว”
“ลุงรู้ได้ยังไงครับ” น้องอังถามสวนไปทันที
“เคยมีโครงการณ์สำรวจเสือโคร่งที่อุทยาน ใช้ทั้งกล้องถ่ายภาพติดไว้ตามต้นไม้ที่เราเรียกว่าคาเมร่าแทร็ป และการเดินสำรวจพื้นที่ รอยเท้าเสือแต่ละตัวไม่เหมือนกันทำให้เราแยกได้ว่าเสือมีกี่ตัว” ลุงใจเฉลย
ตลอดทางเดินในขากลับ ลุงใจ พจณานุกรมป่าฉบับเคลื่อนที่ได้ของเราก็ชี้ต้นไม้ต่างๆให้สองเด็กและพวกเราดูไปตลอดทาง
“อันนี้เถาวัลย์น้ำ ถ้าหลงป่าจริงๆแล้วเอามีดตัดออกมาเป็นท่อนก็จะมีน้ำไหลออกมาพอกินได้ แต่ต้องดูให้ดีนะ น้ำจะต้องใสๆไม่มีกลิ่นเลย ถ้าเป็นยางขาวๆล่ะก็ไม่ใช่แล้ว”
“ต้นนี้ พญาช้างสาร นี่กำลังหนุมาน เป็นยาทั้งนั้น”ลุงใจชี้ให้ดูต้นไม้เล็กที่ขึ้นอยู่เป็นดงไม้พื้นล่างใต้ความร่มทึบของไม้ใหญ่
“ต้นนี้ม้ากระทืบโลง เขาชอบเอาไปดองเหล้ากินกัน แต่ผมว่ากินมากไม่ดีนะ”
“ทำไมละครับ”
“ก็กินมากแล้วเมา เมียก็กระทืบเอานะซิ”
“อ้าว”
ผมเชื่อว่าสองหนุ่ม น้องอิง น้องอังคงไม่สามารถจะจำได้หรอกว่าต้นไม้ต้นไหนชื่ออะไร แต่เขาได้เรียนรู้แล้วว่าป่าเต็มไปด้วยต้นไม้ที่มีประโยชน์สวยงาม ไม่ใช่เพียงแต่เป็นแหล่งที่เอาไว้ตัดไม้เอามาสร้างบ้านเท่านั้น
หน้าผา
หลังจากออกมาจากเส้นทางเดินป่า เราขอบคุณลุงใจสำหรับเวลาอันยอดเยี่ยมบนทางเดินป่าสายสั้นๆเส้นนี้ แล้วเราก็ขับรถกลับไปสู่ “ป่าพิเศษ” ของเราอีกครั้ง
เราเข้าไปที่หน่วยป่ายางซึ่งตั้งอยู่กลางพื้นที่ของป่าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คุณสุชิน วงศ์สุวรรณหัวหน้าหน่วย แนะนำว่าวันนี้โอกาสเห็นช้างที่บริเวณแปลงหญ้าน่าจะสูงเพราะเจ้าหน้าที่ของหน่วยซึ่งติดตามการเดินของช้างอยู่พบเห็นฝูงช้างออกหากินในบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่เมื่อวาน นอกจากนี้พี่เล็กยังแนะนำให้ “ยุ่ง”เจ้าหน้าที่ของหน่วยซึ่งติดตามฝูงช้างอยู่เป็นประจำเป็นผู้นำทางเราไป
จากหน่วยป่ายางด้วยระยะทางประมาณ สองกิโลเมตรบนทางรถ เราก็มาถึงจุดที่เรียกว่า “หน้าผา” ซึ่งเป็นลานเรียบอยู่ในตำแหน่งสูงสามารถมองลงไปเห็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ได้ทั่วทั้งสองทุ่ง
จุดที่เรายืนที่หน้าผานี้มีทิวทัศน์ที่งดงามราวกับทุ่งหญ้าของอัฟริกาที่เราเคยเห็นในภาพยนต์ ทุ่งหญ้าเขียวขจีกว้างสุดตา แซมด้วยไม้ใหญ่ห่างๆกันล้อมไว้ด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนทั้งสามด้าน เปิดทางเข้าไว้เพียงด้านเดียว
ทุ่งหญ้าที่เรามองเห็นจากหน้าผานี้ที่จริงแล้วคือแปลงหญ้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากโครงการพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับฝูงช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ทุ่งทั้งสองทุ่งมีชื่อเรียกตรงตัวว่า แปลงสองร้อย(ไร่) และแปลงหนึ่งร้อย(ไร่) นอกจากหญ้าแล้วทั้งสองทุ่งยังมีหนองน้ำ และโป่งกระจายอยู่ในพื้นที่อีกด้วย
ทันทีที่เราไปถึง ยุ่ง ชี้ให้เราดูช้างในแปลงหนึ่งร้อยที่อยู่ตรงหน้า เขาบอกเสริมว่าเราสามารถเข้าไปดูได้ใกล้ๆอย่างปลอดภัยเพราะเราจะอยู่ในที่สูงชัน แต่ขอให้เงียบเสียงไว้
ช้างฝูงนั้นมีด้วยกัน 3 ตัว เป็นช้างงาตัวผู้สองตัว และตัวเมียอีกหนึ่งตัว ทั้งสามเดินกินหญ้าอยู่ห่างจากเราไปเพียงสามสิบเมตร จากจุดนั้นเราสามารถเฝ้าชมอิริยาบทของช้างในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลาเกือบชั่วโมง
จนกระทั่ง ยุ่ง โบกมือให้เราถอยออกมาจากจุดนั้น เมื่อเราทำหน้างงๆ เขาก็ชี้ให้ดูด้านหลังซึ่งก็เกือบจะทำให้บางคนหัวใจวาย
ช้างอีกตัวหนึ่งยืนกินหญ้าอยู่เงียบๆ ในป่าต้นยูคาด้านหลังห่างไปเพียงสามสิบเมตร โชคดีที่เขาไม่ได้มีท่าทีที่จะวิ่งเข้าใส่เราแต่อย่างใด
ผมนั่งมองทุ่งหญ้าและทิวทัศน์ที่ตรงหน้า พื้นที่ป่าในโครงการพระราชดำริแห่งนี้นับได้ว่าเป็นพื้นที่ “พิเศษ” จริงๆ เป็นที่เดียวในเมืองไทยที่เราจะสามารถพบและเฝ้าดูช้างป่าได้เกือบทุกวัน และถ้าโชคดีก็อาจจะได้พบเห็นกระทิงฝูงใหญ่อีกด้วย
ในความจริงแล้วด้วยความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและความเหมาะสมของพื้นที่ ป่ากุยบุรีอาจจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ในรูปแบบซาฟารีพาร์คในอัฟริกาเช่นเดียวกับ อุทยานพิลาเนสเบิร์ก (Pilanesberg Game Reserve) ในประเทศอัฟริกาใต้ได้ แต่จากจุดนี้ที่ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับที่รู้จักไปทั่วโลกนั้นย่อมต้องการความเข้าใจ, การจัดการที่ดี และความทุ่มเทจากอีกหลายฝ่ายเป็นอย่างมากและยาวนาน
แต่ถ้าหากเราไปถึงจุดนั้นได้ก็จะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ของป่าและช้างอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างลงได้อีกมาก
“อาเกิ้นครับ กระทิง” เสียงเรียกทำให้ผมตื่นจากฝันกลางวัน
ที่ทุ่งหญ้าของแปลงสองร้อยไกลออกไป กระทิงฝูงหนึ่งกำลังเลาะเลียบออกจากชายป่า เพียงครู่หนึ่งทั้งฝูงก็ออกมาอยู่กลางทุ่ง เมื่อส่องด้วยกล้องส่องทางไกลเราก็เห็นว่าในฝูงนั้นมีทั้งกระทิงโตเต็มวัยที่รูปร่างล่ำสันสง่างามหลายตัว, ลูกกระทิงเล็กๆอีกสี่ห้าตัวที่ยังเป็นสีน้ำตาลอ่อน และนับได้ทั้งหมดถึง 16 ตัว เห็นได้ชัดว่าฝูงสัตว์แห่งป่ากุยบุรีได้มาพบเจอพื้นที่อันสงบสุขและอุดมสมบูรณ์ที่เขาจะได้ปักหลักอาศัยและแพร่เผ่าพันธุ์แล้ว
เราเฝ้าดูกระทิงฝูงนั้นอยู่จนตะวันลับเหลี่ยมเขาทางด้านหลังและแสงสว่างของวันเกือบจะหมดไป
“เป็นไง สนุกมั๊ยครับ” พี่ใหญ่โอบไหล่ลูกชายทั้งสองขณะที่เรากำลังจะขึ้นรถ
“สนุกครับ วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดของอิงเลย แล้วเรามาที่นี่กันอีกนะครับ ป๊ะป๊า”
ผมเชื่อว่าทั้งอิงและอังจะมีความทรงจำที่งดงามจากสิ่งที่เขาได้พบเห็นในวันนี้ วันที่พ่อเขาพามาเที่ยวป่าครั้งแรก พวกเขาจะจำวันนี้ได้จนกว่าเขาจะได้พาลูกๆของเขามาเที่ยวป่าสักครั้งเพื่อถ่ายทอดความทรงจำที่งดงามนี้สู่รุ่นต่อไป
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับกันยายน 2552
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
โดยรถยนต์
- ใช้เส้นทาง ทางหลวงสาย 4 ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าลงใต้
- ผ่านอำเภอปราณบุรี และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด มุ่งหน้าสู่อำเภอกุยบุรี
ที่หลักกิโลเมตรที่ 290 (ก่อนถึงอำเภอกุยบุรีประมาณ 3 กิโลเมตร) เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 3217 มุ่งหน้าสู่บ้านยางชุม
-ไปตามถนนสาย 3217 ระยะทางประมาณ 19.2 กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
-ไปตามถนนลาดยาง(ผิวถนนค่อนข้างชำรุด) ซึ่งจะวิ่งเลาะอ่างเก็บน้ำยางชุม ประมาณ 8.3 กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
-ไปตามถนนลาดยางประมาณ1.5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
โดยรถไฟ
จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ซื้อตั๋วโดยสารกรุงเทพฯ - อำเภอกุยบุรี ลงที่สถานีอำเภอกุยบุรี จากนั้นจ้างเหมารถ เดินทางต่อไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
โดยรถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งสายใต้ เลือกโดยสารใดก็ได้ที่เดินทางไปใต้ เนื่องจากทุกสายจะผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งพนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บเงิน ขอลงที่อำเภอกุยบุรี จากนั้นจ้างเหมารถ เดินทางต่อไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
การเดินทางไปดูช้างที่หน่วยป่ายาง
ออกเดินทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีย้อนทางเดิม ประมาณ 3กิโลเมตร จะมีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายไปดูช้างป่ากุยบุรี จากนั้นจะมีป้ายบอกทางไปตลอด รวมระยะทางจากที่ทำการอุทยานถึงด่านทางเข้าหน่วยป่ายาง (พิกัด GPS ........) รวมระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยเป็นทางลาดยางสลับทางลูกรังอัดแน่น
จากด่านทางเข้าสู่หน่วยป่ายางเป็นทางลูกรังอัดแน่น ในฤดูฝนมีการข้ามห้วยสองถึงสามครั้ง รถที่ใช้เดินทางควรจะเป็นรถที่มีช่วงล่างแข็งแรงและสูงพอสมควรแต่ไม่จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ จากหน่วยป่ายางทางวนรอบพื้นที่โครงการพระราชดำริระยะทาง 5 กิโลเมตรเป็นทางลูกรังสลับทางดินที่ค่อนข้างนิ่ม ในฤดูฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ
ที่พัก
ที่ทำการ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีบ้านพัก ในเขตที่ทำการ 3 หลัง สามารถติดต่อ จองล่วงหน้าได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช และทางเว็บไซต์ของกรมอุทยาน http://www.dnp.go.th พื้นที่กางเต๊นท์ อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำสะอาดและสะดวกสบาย
หน่วยป่ายาง: มีบ้านพักหนึ่งหลัง จะต้องติดต่อจองโดยตรงกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ตู้ ปณ.10 ปณจ.กุยบุรี อ. กุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ 77150
โทรศัพท์ 032-646292 แฟกซ์ 032-646292...
เดินป่า สวนผึ้ง
คนส่วนใหญ่รู้จักสวนผึ้ง ราชบุรี ในมุมมองของรีสอร์ตหรู ฝูงแกะบนสนามหญ้า หรืออย่างมากที่สุดคือทะเลหมอกเขากระโจม
แต่ในความจริงแล้วสวนผึ้งยังมีธรรมชาติที่งดงามอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ สายน้ำลำภาชีที่งดงาม ที่น่าสนใจก็คือ ป่าผืนนี้เป็นป่าที่ดูแลรักษาร่วมกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทุกคนสามารถไปเดินป่าที่สวนผึ้งกันได้ง่ายๆครับ ด้วยการติดต่อกลุ่มรักษ์เขากระโจมซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ของชาวบ้านในพื้นที่ เส้นทางที่จะเดินได้ก็มีหลายเส้นทางตั้งแต่ทางสั้นๆเดินวันเดียว, เดินค้างในป่า 1-2 คืน ไปจนกระทั่งถึงเดิน 7 วันไปออกแก่งกระจาน เส้นทางหลายเส้นผ่านจุดชมวิวสวยๆบนยอดเขาสูง, บางเส้นผ่านน้ำตก และเกือบทุกเส้นทางมีพันธุ์ไม้หายากให้ชมกัน
นอกจากจะได้เที่ยวป่าสวยๆแล้วเราก็ยังจะได้เรียนรู้วิธีเที่ยวป่าจากชาวบ้านที่เป็นมืออาชีพและยังได้สนับสนุนการอนุรักษ์ในพื้นที่อีกด้วย
ลองดู VDO ตัวอย่างการเดินป่าที่นี่ดูจากรายการ Thailand Off...
ชวนกันไปพิชิตดอยหลวงเชียงดาว
สวัสดีครับ มีภูเขาอยู่หนึ่งลูกที่ผมหลงรักและอยากจะกลับไปทุกปีเท่าที่จะทำได้ เป็นภูเขาหินปูนอันดับหนึ่งของประเทศไทย อยู่ทางตอนเหนือ จ.เชียงใหม่ อ.เชียงดาว มีชื่อว่า ดอยหลวงเชียงดาว
การขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ปัจจุบันเปิดให้ส่งรายชื่อเพื่อจองขึ้นได้ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
จากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สามารถเลือกเส้นทางท่องเที่ยวขึ้นดอยหลวงเชียงดาวได้ สองเส้นทางหลักๆ ได้แก่ เส้นทางขึ้นเด่นหญ้าขัด และ เส้นทางขึ้นปางวัว
...
ชวนกันไปภูสอยดาว (อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์)
สวัสดีครับ ในช่วงฤดูฝนนี้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายๆที่ ได้เปิดเส้นทางต้อนรับนักเดินทางให้เข้าไปสัมผัสกับความสดชื่อของป่าในฤดูฝน เป็นช่วงที่ป่ามีความเขียวขจี อากาศเย็นสบายไปจนถึงหนาวได้ในเวลากลางคืน และในระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคมของทุกปี ณ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่นักเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติ จะนิยมพากันไปพิชิตเส้นเดินป่าขึ้นสู่ลานสนภูสอยดาว ที่มีไฮไลท์หรือรางวัลแก่ผู้พิชิตเป็น ทุ่งดอกหงอนนาค
ด้วยระยะเส้นทาง 6.5 กิโลเมตร จากจุดเริ่มเดิน ถึงบริเวณจุดกางเต็นท์ กับเส้นทางเดินป่าที่มีเนินทางชันต่างๆ รอต้อนรับนักเดินทาง ถือเป็นหนึ่งเส้นทางที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินใจของนักเดินทางทุกคน
ในฤดูฝน บนพื้นที่จุดกางเต็นท์ลานสน มีเส้นทางท่องเที่ยวหลักอยู่ สองเส้นทาง...
เดินป่าหน้าฝน บนเขากำแพง
อีก 10 นาที จะตีห้า "ฉัน เพื่อน มอเตอร์ไซค์” การเดินทางกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ปลายทางคือ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ไม่ยาวไกลนัก
หากพูดถึงอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อาจฟังดูไม่คุ้นหูมากนัก อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ เดินทางง่าย ถนนหนทางดี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลายไม่ว่าจะเป็น น้ำตก เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ถ้ำธารลอด หรือจะเป็นเส้นทางเดินป่าเขากำแพง...
“มนุษย์เดินช้าที่ หิมาลัย ตอนที่ 6”
"Trekking in the NEPAL HIMALAYA"
ตอนที่ 6 : " NAMCHE BAZAR เมืองหลวงแห่งภูมิภาคเอเวอเรส"
คืนที่หลับสนิททันทีตั้งแต่หัวถึงหมอนผ่านพ้นไป เราตื่นมาแต่เช้าตรู่และต่อสู้กับตัวเองให้มุดออกมานอกถุงนอน อากาศเย็นวาบชะโลมตัวเราทันทีที่เอาตัวพ้นถุงนอน หยิบนาฬิกามาดู อีก 10 นาทีจะ 6 โมงเช้าแต่ฟ้านอกหน้าต่างสว่างจ้ากว่าเวลาจริงมากนัก เราลุกขึ้นยืนข้างเตียง หยิบเสื้ออีก 2 ตัวมาใส่เพื่อชะลอความหนาว หยิบอุปกรณ์ล้างหน้าแปรงฟันออกไปห้องน้ำที่อยู่ถัดไปจากห้องเราประมาณไม่เกิน...
“มนุษย์เดินช้าที่ หิมาลัย ตอนที่ 8”
"Trekking in the NEPAL HIMALAYA"
ตอนที่ 8 : “ DOLE ถึงเวลาที่ต้องเลือก”
ตี 5 เราเด้งตัวขึ้นจากที่นอนเกือบจะพร้อมกัน เมื่อคืนเรานอนไม่ค่อยหลับด้วยหลากหลายเหตุผล ตลอดเส้นทางที่เราเดินทางมากว่า 7 วันที่ผ่านมา เรานอนหัวค่ำและตื่นเช้ามากแบบนี้ทุกวัน และกิจวัตรต่อจากนั้นก็ดูจะคล้ายๆ กันทุกวันเช่นกัน ตื่นนอน ล้างหน้าล้างตา ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ทำอาหารเช้า แพคอาหารกลางวัน...
มนุษย์เดินช้าที่ “หิมาลัย” ตอนที่ 9 – 10 (จบ)
"Trekking in the NEPAL HIMALAYA"
ตอนที่ 9 : “ เรื่องนี้ไม่มีหักมุม”
เช้าวันที่ 8 ของการเดินทาง เช้าวันที่เราตัดสินใจหันหลังกลับจาก Dole เราเดินคุยกันมาเรื่อยๆ ในใจยังคงเสียดายที่ไปไม่ถึงจุดหมายที่เราตั้งไว้
“พอรู้ว่าจะได้กลับบ้าน ดูกะต่ายผ่อนคลายขึ้นน่ะ เริ่มยิ้มได้แล้วด้วย” พี่ปั้นเปิดบทสนทนาใหม่ขึ้นมา
“ไม่รู้ซิ หนูรู้สึกแปลกๆ มันร้อนลนอยากจะไปให้พ้นจากตรงนี้ รู้สึกไม่อยากขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว มันหวิวๆ แปลกๆ หนูมองขึ้นไปแล้วหนูรู้สึกกลัว...
มนุษย์เดินช้า ที่ “หิมาลัย” ตอน 3 – 4
"Trekking in the NEPAL HIMALAYA"
ตอนที่ 3 : "ก้าวแรกที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม"
เราถึงที่ "LUKLA" สนามบินที่เล็กที่สุด เท่าที่เราเคยเจอ รันเวย์เป็นเหมือนแล้มสเก็ตบอร์ด ไว้ช่วยเบลคเครื่องบินลำจิ๋วนี้ให้เบาพอจะเลี้ยวหักซอกเข้าจอดแบบยูเทิร์นเตรียมบินออกอีกครั้ง เราปลดเข็มขัดแล้วเดินออกมานอกเครื่องบิน สัมผัสแรกคือไอเย็นเหมือนเราเปิดตู้แช่ปลาพัดวูบเข้ามาจนกระชับเสื้อแนบอกแทบไม่ทัน เราหันมาสบตากันแล้วหัวเราะ ต่างก็คิดในใจ "หนาวชิบหาย" โดยที่เราไม่รู้เลย ว่านั่นคืออากาศที่ร้อนที่สุดที่เราจะเจอแล้วในทริปนี้
เราถึง Lukla เช้ามาก พร้อมทั้งกองทัพไกด์และลูกหาบที่พยายามจะโน้มน้าวให้เราเป็นลูกค้า ด้วยความตื่นกลัวเล็กน้อย...