เชียงดาวและมุมมองที่แตกต่าง
เชียงดาวและมุมมองที่แตกต่าง
กลับสู่หน้าหลักของ ThailandOutdoor.com
สนับสนุนโดย
ดาวที่เต็มฟ้าในคืนข้างแรมและสายลมเย็นที่พัดเอื่อยมาปกคลุมที่ราบเชิงเขานั้นเหมือนเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าฤดูหนาวกำลังมาแล้ว
ผมนั่งอยู่ที่ลานแค้มป์ท่ามกลางความดึกสงัด ความสงบนิ่งรอบตัวพาให้ใจล่องลอยไปตามความคิดคำนึงถึงหลายอย่างในชีวิตที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องราวนั้นก็คือ ชายผู้เคยพาผมมารู้จักกับการนอนกลางป่าเช่นนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เวลาเช่นนี้ของปีนี่แหละที่เรามักจะออกมานอนป่ากัน
“ทำไมจะต้องหาเรื่องลำบากไปนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่เรื่อยๆนะ อยู่บ้านนอนโรงแรมซะบ้างก็ได้ มันสบายเกินไปหรือยังไง” นั่นเป็นคำถามที่ผมได้ยินจากเพื่อนฝูงอยู่เสมอ
ทำไมต้องเที่ยวป่า ทำไมต้องไปนอนแค้มป์ ชายผู้เคยพาผมมานอนป่าในวัยเด็กไม่เคยบอกเหตุผลมาเป็นคำพูด แต่หากเมื่อเวลาผ่านพ้นมาเนิ่นนานผมจึงเริ่มเข้าใจ
แสงแดดยามเช้าสาดส่องกระทบดอยเบื้องหน้าให้ปรากฎขึ้นทีละนิด สายหมอกลอยปกคลุมยอดเขาสูงนั้นให้ดูเหมือนอยู่ไกลสุดเอื้อม ครูวิชาภูมิศาสตร์อาจสอนว่านี่คือภูเขาที่สูงเป็นอันดับสาม แต่หลายคนที่ได้มาเห็นบอกว่านี่คือภูเขาที่สวยที่สุดในประเทศไทย ดอยหลวงเชียงดาว
ดอยเชียงดาวมีสเน่ห์ต่างจากดอยอื่นๆตรงที่เป็นเขาตระหง่านโดดเด่นอยู่ท่ามกลางทุ่งราบ ในขณะที่ดอยสูงอื่นๆล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา ยอดเขาหินปูนสูงเทียมเมฆนั้นปกคลุมไปด้วยผืนป่าทึบ เปิดเผยให้เห็นเพียงส่วนที่เป็นหน้าผาที่สูงชันรอบด้าน งามนักเมื่อยามกระทบแสงแดดของวันใหม่
แค้มป์ของเราวันนั้นตั้งอยู่ริมห้วยแม่ก๊ะห่างจากชายป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาวออกมาไม่มากนัก ในสถานที่ๆเรียกว่า Park & Camp เชียงดาว
“มานี่มา เดี๋ยวลุงจะพาไปชมวิถีชีิวิตธรรมชาติของคนบ้านป่า” พี่อ้วน คุณนิคม พุทธา เดินเข้ามาทักทายเด็กๆ แล้วชวนเราเดินไปที่ไร่ริมชายป่า
“นี่เป็นข้าวไร่ ของพี่น้องชาวกระเหรี่ยง สังเกตดูนะว่าเป็นการปลูกข้าวแบบที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เรียกได้ว่าพึ่งพาธรรมชาติจริงๆเลย พันธุ์ข้าวไร่นี้ไม่เหมือนข้าวพันธุ์ที่ปลูกกันทางภาคกลางนะครับ เป็นพันธุ์ข้าวที่คนกระเหรี่ยงเขาเก็บสืบทอดกันมา อาจจะไม่ได้ผลผลิตมากเหมือนข้าวอื่นแต่แข็งแรงและทนทานเหมาะสมกับพื้นที่และอากาศของที่นี่”
“แล้วอันนี้ต้นอะไรครับ” นายอิงและนายอังเด็กชายอายุเจ็ดขวบและห้าขวบที่เริ่มจะติดใจการเที่ยวป่ามาตั้งแต่ทริปกุยบุรียืนดูต้นอะไรบางอย่างที่อยู่ติดกับนาข้าว สูงชะลูดเหมือนต้นข้าวโพดแต่ไม่ใช่
“ข้าวฝ่างครับ ชาวบ้านเขาปลูกไว้เป็นอาหารนกเพื่อไม่ให้นกลงไปกินข้าวในนา”
พี่อ้วนพาเราเดินต่อมายังแปลงข้างๆซึ่งเป็นไม้เตี้ยๆอยู่เรี่ยดิน “นี่ต้นอะไร เด็กๆคนไหนรู้จักบ้าง”
“เด็กๆ” ในทริปนี้นอกจากนายอิงนายอังแล้ว ก็ยังมีนายปั๊ปลูกชายผมที่เริ่มจะเป็นหนุ่ม และน้องแป๊ปลุกสาวคนเล็ก
“เด็กๆ” ทั้งสี่ส่ายหน้า อย่าว่าแต่เด็กเลย ผมเองก็ไม่รู้จักเหมือนกัน
“นี่ต้นถั่วลิสงครับ หรือที่คนทางนี้เขาเรียกว่าถั่วดิน ส่วนที่เรากิน น่ะเป็นส่วนของรากที่อยู่ในดิน”
อธิบายจบพี่อ้วนก็ขุดต้นถั่วต้นหนึ่งขึ้นมาให้ดูมีถั่วที่เราเคยเห็นคุ้นตาอยู่ห้าหกเม็ด
“อย่างนี้กี่ต้นถึงจะได้ถั่วกิโลหนึ่งครับเนี่ย” นายปั๊ปพูดขึ้นมาด้วยใบหน้าสงสัย
“ก็หลายต้นอยู่นะ” พี่อ้วนตอบพร้อมด้วยรอยยิ้ม พี่อ้วนคงพอจะเดาได้ว่าคนถามกำลังคิดอะไรอยู่
“นั้นตั๊กแตนครับ” นายอิงตาลุกวาว อิงเป็นเด็กที่ชอบแมลงมาก
“ครับ ในไร่ของคนกระเหรี่ยงที่นี่เขาไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ในไร่ในนาก็เลยมีสิ่งมีชีวิตมากมาย แล้วอาหารก็ปลอดภัย ไม่มีพิษด้วย”
“อันนี้ต้นทุน” เว้นวรรคสักครู่แล้วพี่อ้วนก็อธิบายต่อเมื่อเห็นทุกคนทำหน้างง “ไม่ใช่ต้นทุนที่เป็นเงินนะครับ เป็นไม้กินได้ตระกูลบอน คนทางนี้เขาเก็บก้านมันไปปอกเปลือกออกจิ้มน้ำพริกอร่อยเลยครับ กรอบๆมันๆ”
“ปลูกไว้ที่หัวไร่ปลายนามีกับข้าวกินตลอด ไม่ได้ออกดอกเป็นดอกเบี้ยเหมือนต้นทุนในกรุงเทพด้วย” พี่อ้วนบอกด้วยใบหน้ายิ้มๆ แต่คำพูดเล่นๆนั้นกลับแฝงไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง
ผมเชื่อเลยว่าเด็กๆได้เรียนรู้อะไรไม่น้อยจากการเดินชมไร่ชมสวนในวันนี้ ถึงแม้เขาอาจจะยังไม่รู้ตัวก็เถอะ
พี่อ้วน คุณนิคม พุทธา เป็นผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติมาต่อเนื่องกว่ายี่สิบปี แล้วจึงได้มาปักหลักอยู่ที่เชียงดาว สร้างค่ายเยาวชน และแค้มป์พัก Park & Camp, เป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว ด้วยความรู้เรื่องธรรมชาติและความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นี้ที่สะสมมาตลอดหลายปีทำให้การมาแค้มป์ที่นี่ไม่เป็นเพียงจุดชมวิวดอยเชียงดาวสวยๆจากหน้าเต๊นท์ แต่เป็นโอกาสของการเรียนรู้วิถีชีวิตธรรมชาติ, เรื่องของพันธุ์ไม้ต่างๆ และยังจะได้ข้อมูลจุดท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอีกด้วย
บ่ายวันนั้นหลังจากได้นั่งคุยกับพี่อ้วนและได้รับคำแนะนำถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆที่เราจะไปแล้ว พี่อ้วนก็พาเราเดินไปยังน้ำพุร้อนบ้านยางปู่โตะที่อยู่ไม่ไกล
“แช่น้ำแร่นี่ได้ประโยชน์มากเลยครับ จากน้ำร้อนในบ่อนี้ก็ลุกขึ้นไปแช่น้ำเย็นๆในลำธาร พักเดียว เหนื่อยเมื่อยมาจากไหนก็หายเป็นปลิดทิ้งเลยครับ” พี่อ้วนพาเราไปดูอ่างแช่น้ำร้อนที่ทำอย่างง่ายๆริมลำธารนั้น
จากน้ำพุร้อนทางเล็กสายนั้นเลาะเลียบห้วยแม่ก๊ะและร่มไม้ใหญ่เข้าไปในป่าของเขตรักษาพันธุ์ฯดอยหลวงเชียงดาว พี่อ้วนอธิบายเรื่องต้นไม้ต่างๆให้เด็กๆฟังไปตลอดทาง ในขณะที่ผมพยายามมองหาตัวนกที่ส่งเสียงร้องอยู่รอบๆตัว
“ทางเส้นนี้ เดินเข้าไปในป่าได้หลายเส้นทางครับ เดินขึ้นเขานี้ไปก็ได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะกลับมาเป็นวงรอบ หรือจะเดินขึ้นไปเรื่อยก็ถึงเส้นทางที่ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวจุดที่เป็นต้นน้ำแม่ก๊ะนี่ก็ประมาณ 6-7 ชั่วโมง”
แต่วันนี้เราคงไม่มีโอกาสได้เดินสำรวจบริเวณนี้มากนักเพราะเรามีแผนที่จะเดินทางกันต่อ
ทางคอนกรีตสายนั้นวิ่งผ่านบ้านถ้ำเชียงดาวไปก็เริ่มชันขึ้น
“คุณมะลิ” รถแลนด์โรเวอร์ที่มีอายุน้อยกว่าผมนิดหน่อยพาเราใต่เส้นทางนั้นขึ้นไป ตามหลังด้วยแลนด์โรเวอร์รุ่นหลานของพี่ใหญ่เพื่อนสนิทของผมผู้เป็นพ่อของน้องอิงน้องอัง
“พ่อว่าแล้ว ทางแถวนี้ถ้าไม่ชันจริงๆเขาไม่เทคอนกรีตอย่างดีอย่างนี้หรอก”ผมบอกกับลูกชายซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ
เส้นทางแคบๆนั้นพาเราผ่านเข้าไปในป่าที่สวยมากจุดหนึ่ง พี่อ้วนหยุดรถ เพื่อให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศของป่าจุดนั้น
“ข้างหน้าที่เห็นชันขึ้นไปนั่นเรียกว่าผาตั้งครับ บริเวณนี้มีสัตว์ป่าชุกชุมมากครับ ที่เห็นได้บ่อยก็จะเป็นลิง บางทีก็เห็นเลียงผาอยู่บนเขาสูงนั่น”
“เรากำลังวิ่งผ่านระหว่างดอยหลวงกับดอยนางนะครับ ทางขวานี่คือดอยนาง ไม่สูงเท่าดอยหลวงแต่ยังไม่ค่อยมีใครขึ้นไปเที่ยว มีดอกไม้สวยๆ วิวสวยๆที่ยังไม่ได้สำรวจอีกเยอะเลยครับ”
ใต่ทางชันต่อไปอีกหลายกิโลเมตรแล้วเราก็มาถึงบ้านนาเลา หมู่บ้านลีซอจุดหมายของวันนี้
คุณนิคม เจ้าของบ้านระเบียงดาวให้การต้อนรับเราสู่บ้านพักหลังเล็กๆที่อาจจะมีจุดชมวิวดอยหลวงเชียงดาวที่สวยที่สุดจุดหนึ่ง ก่อนที่จะขอตัวเดินทางเข้าเมืองพร้อมๆกับพี่อ้วนที่มาส่งเราแล้วกลับลงไป ทิ้งเราไว้ให้เป็นเจ้าของบ้านโดยสมบูรณ์
เตาเล็กๆถูกจุดขึ้นเพื่ออุ่นอาหารที่เตรียมมาจากในเมือง ไม่นานนักเราก็ล้อมวงกันบนโต๊ะไม้ไผ่เล็กๆ แม้โต๊ะจะแคบเล็กชนิดไหล่ชนไหล่ แม้อาหารจะเป็นเพียงกับข้าวพื้นเมืองง่ายๆกับข้าวเหนียว แต่ผมก็เชื่อว่า ด้วยวิวที่งามราวกับภาพวาดและความอบอุ่นในครอบครัวและเพื่อนฝูง หลายคนในวงอาหารคงจำความประทับใจของมื้อนี้ได้ดีกว่าอาหารหรูบนเหลาที่ไหนๆ
อากาศเริ่มเย็นลง ชาร้อนๆถูกแจกจ่ายไปรอบวง เมื่อดับเตาลงเราก็พบกับความเงียบสงบของหมู่บ้านแห่งนี้ จะมีก็แต่เพียงเสียงกระดึงของควายที่กำลังเดินกลับบ้านอยู่ไกลๆ
บ้านนาเลาเป็นอีกจุดเริ่มต้นเดินขึ้นดอยหลวง แต่นั่นมิใช่เป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้
ในช่วงชีวิตการเดินทางที่ผ่านมา ย่อมมีหลายครั้งที่ผมปีนป่ายสู่ดอยสูงเพื่อเพียงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิต ผมยอมที่จะเดินทางยากลำบากรอนแรมกลางป่า ห่างไกลจากครอบครัว แต่เมื่อมองย้อนไปกลับพบว่าภูเขาลูกแล้วลูกเล่าที่เราเคยปีนป่าย ก็เป็นได้แค่เพียงชัยชนะที่เราแต่งตั้งให้กับตัวเองเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อขึ้นไปแล้วก็ต้องลง ไม่ว่าจะขึ้นจะลงสักกี่ครั้ง ภูเขาก็ยังคงอยู่ที่เดิม เราก็ต้องกลับมาเป็นเรา คำบอกเล่าที่ว่าเรา
ได้พิชิตภูเขามาแล้วดูออกจะเกินเลย ว่างเปล่า และเป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างความสำคัญของตัวเรา
ต่อผู้ที่รับฟังเรื่องราว
แม้ความท้าทายของยอดเขายังมีอยู่ แต่หากเมื่อชีวิตผ่านเรื่องราวมามากพอ ผมก็ได้เรียนรู้ว่า เราสมควรจะพักการปีนป่ายที่สูง และได้นั่งชื่นชมความงามของภูเขาท่ามกลางครอบครัวและเพื่อนฝูงบ้าง
ทั้งหมดนี้มิได้เป็นจริงแต่เพียงกับที่สูงบนยอดเขา แต่หากเป็นเรื่องราวจริงแท้ของที่สูงในชีวิตอีกด้วย
ความมืดสลัวแผ่เข้าปกคลุม แต่หากดอยหลวงยังปรากฎอยู่ตรงหน้าด้วยแสงสุดท้ายของวัน วิวจาก “ระเบียงดาว” ให้มุมมองของดอยหลวงที่แตกต่างไปจากที่เราเคยเห็นมา ที่นี่เรามองเห็นดอยหลวงทางทิศตะวันออกตั้งแต่เชิงดอยไปจนถึงยอด เมื่อเราถอยห่างออกมาจากดอยหลวงกลับทำให้เรามองเห็นภาพดอยได้ในมุมมองที่แตกต่างไป
สายหมอกที่ค่อยๆเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมดอย แล้วก็ลอยห่างไป คล้ายเมฆหมอกของชีวิต ซึ่งหากเราอยู่ในม่านหมอกเราก็คงไม่ได้คิดว่า เมฆหมอกนั้นก็เป็นเพียงชั่วคราว
ที่นี่มีไฟฟ้า แต่เราก็เลือกที่จะจุดตะเกียงที่เตรียมมา เจ้าของบ้านเปิดห้องพักไว้ให้เรา แต่หากวิวของระเบียงดาวนั่นงามเกินกว่าที่เราจะตัดใจไปนอนในห้องที่ปิดมิดชิด เราทั้งหมดจึงเลือกที่จะกางเต๊นท์ขึ้น 3 หลังบนระเบียงไม้ไผ่แคบๆแต่งดงามอันนั้น
เมื่อที่จำกัด การกางเต๊นท์ Coleman ขนาดคฤหาสของผมบนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เราเลือกที่จะใช้เต๊นท์สำรองขนาดสามคนแทน
“เราจะนอนกันสี่คนในเต๊นท์นี้ได้จริงๆเหรอค่ะพ่อ” ลูกสาวคนเล็กผมถามอย่างสงสัย ในขณะที่แม่ของเขาส่งคำถามเดียวกันผ่านทางสายตามาที่ผม
“ได้ซิ พ่อ, แม่และพี่ปั๊ปยังเคย นอนสามคนในเต๊นท์นี้มาแล้วเลย เพิ่มน้องแป๊ปอีกคนจะเป็นไรไป”
“พ่อครับ ตอนนั้นปั๊ปอายุเก้าขวบนะครับพ่อ” ลูกชายผมบอกมาพร้อมเสียงหัวเราะ
จริงซิ เวลาช่างผ่านไปเร็วนัก เร็วจนผมไม่รู้ตัวว่าลูกชายกำลังจะเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว
คืนนั้นเราสี่คนพ่อแม่ลูกนอนเบียดกันแน่นจนความหนาวเย็นของเชียงดาวทำอะไรเราไม่ได้
ผมคงจะจำค่ำคืนที่แสนอบอุ่นนี้ได้อีกนาน เช่นเดียวกับภรรยาผมที่จำได้ว่าถูกลูกๆเบียดจนนอนไม่หลับไปตลอดคืน
จากบ้านระเบียงดาว เราย้อนกลับมาที่เชียงดาวอีกครั้งเพื่อจะเดินทางต่อไปมองดอยหลวงจากอีกมุมมอง ทางด้านตะวันตก ในช่วงนี้ของการเดินทาง เราได้พ่อหลวงสมบูรณ์ คำวัน มาช่วยนำทาง
จากตัวเมืองเชียงดาว เราวิ่งย้อนเส้นทางกลับไปทางเชียงใหม่ประมาณ 4.5 กิโลเมตร ก็เลี้ยวขวาเข้่าเส้นทางสู่หน่วยเด่นหญ้าขัดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ผ่านทางวัดจอมคีรี
ทางป่าเส้นนั้นเป็นทางดินลูกรังที่น่าจะไม่ลำบากอะไรนักในหน้าแล้ง แต่ในเวลาปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ก็พอจะมีจุดที่ทางยังเละให้ตื่นเต้นกันบ้างแต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรสำหรับ Land Rover ทั้งสองคัน ด้วยเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเราก็มาถึงจุดแค้มป์ของวันนี้
หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก หรือที่รู้จักกันในนามเด่นหญ้าขัดซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านที่เคยตั้งอยู่ที่จุดนี้ ตั้งอยู่ที่ความสูง 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลานกว้างมีดงสนสลับกับต้นนางพญาเสือโคร่งที่จะบานไปทั้งเขาในช่วงปลายเดือนธันวาคม
เราเลือกที่จะตั้งแค้มป์บนเนินใต้ต้นสนที่มองเห็นวิวส่วนหนึ่งของดอยหลวงและหุบเขาที่เป็นที่ตั้งของเมืองเชียงดาว สมาชิกหลายคนของคณะถึงกับเอ่ยปากว่า นี่อาจจะเป็นจุดกางเต๊นท์ที่สวยที่สุดจุดหนึ่งที่เราเคยเที่ยวกันมา
เรามาถึงตั้งแต่บ่าย แต่ดูเหมือนเราจะไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แม้พ่อหลวงสมบูรณ์จะเอ่ยปากชวนไปเดินเล่นในเส้นทางสวยๆแต่เราก็บ่ายเบี่ยงผลัดไว้เป็นกิจกรรมของวันพรุ่งนี้
“ไปเที่ยวป่า? แล้วไปทำอะไรล่ะ” คำถามที่เพื่อนๆเคยถามเมื่อผมบอกเล่าว่าผมมักจะใช้เวลาวันหยุดไปเที่ยวป่ากลับขึ้นมาในใจ
ในบางครั้งการ “ไม่ทำอะไร” ซะบ้าง อาจเป็นการทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนเมืองที่ตกอยู่ในการดำเนินชีวิตที่วุ่นวายสับสนตลอดเวลาจนแทบจะมีอาการสมาธิสั้นกันไปเสียหมด
และบ่ายนั้นเราก็ทำอย่างนั้นจริงๆ นั่งสูดอากาศบริสุทธ์ิ ชื่นชมกับวิวงามเบื้องหน้าที่เปลี่ยนไปแทบจะทุกนาทีตามเแสงตะวันที่บ่ายคล้อยลงเรื่อยๆและหมู่เมฆที่ลอยเข้ามาปกคลุมแล้วจากไป
การนั่งไม่ทำอะไรในป่าใหญ่นั้นช่วยให้ความคิดที่ขุ่นข้นจากความเร่งรีบ “ตกตะกอน” ลงได้อย่างประหลาด เมื่อใจสงบลงเราก็อาจจะมองปัญหาทั้งหลายที่รุมเร้าจิตใจด้วยมุมองที่แตกต่าง หลายครั้งปัญหาเหล่านั้นก็คลายความสำคัญลงด้วยตัวมันเองราวกับเมฆหมอก
“พ่อครับ เริ่มมืดแล้ว จุดตะเกียงนะครับ”
“ปั๊ปก็จุดซิลูก” ผมตอบโดยยังไม่ยอมลุกจากวิวสวยเบื้องหน้า
“ผมจุดไม่เป็นครับ” ลูกชายผมรับออกมาตรงๆ
ลูกชายผมโตเป็นหนุ่มแล้ว เป็นธรรมดาของเด็กชายวัยนี้ที่ี่จะห่างออกไปจากพ่อ ไปอยู่ในโลกของเขาเองและกับเพื่อนวัยเดียวกัน ด้วยธรรมชาติที่ติดตัวเรามาตั้งแต่ยุคหินนชายหนุ่มวัยนี้ย่อมต้องแยกตัวออกไปจากพ่อเพื่อไปมีครอบครัวของตัวเองแล้ว สัญชาติญาณเดิมเช่นนั้นยังคงมีอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกชายในหลายๆครอบครัว เมื่อมองย้อนไปถึงตัวเองในวัยนี้ ผมก็เคยผ่านช่วงนี้มาเช่นกัน
ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองยิ่งทำให้เราไม่ได้ไกล้ชิดกันอย่างที่ควรจะเป็น ลูกๆออกไปโรงเรียนแต่เช้า ผมกลับดึกหลังจากที่เขาหลับกันหมดแล้ว เวลาที่จะอยู่พร้อมหน้ากันมีไม่มากนัก จนบ้างครั้งผมยังรู้สึกว่าเขาได้เรียนรู้จากโทรทัศน์มากกว่าเรียนรู้จากผมเสียอีก
การออกมานอนป่าจึงเป็นโอกาสที่เราจะใช้เวลาดีๆอยู่ด้วยกัน เรื่องเล็กน้อยในแค้มป์ก็เป็นโอกาสของการเรียนรู้และสานความสัมพันธ์อยู่เสมอ
“ลูกหมุนเปิดตรงนี้ แล้วปั๊มลมเข้าไปให้ตึงมือก่อนนะ จากนั้นก็เอาไฟแช๊คจ่อตรงนี้ แล้วก็เปิดวาล์วเลย”
ไฟในตะเกียงดวงนั้นสว่างวาบขึ้นมา พอที่จะให้ผมเห็นใบหน้าของหนุ่มน้อยที่มีแววภูมิใจกับการจุดตะเกียงสำเร็จเจืออยู่
ผมพาลูกชายเที่ยวป่าด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความหวังที่ว่าการเรียนรู้ของเขาจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การกางเต๊นท์, หุงข้าว หรือจุดตะเกียง แต่หากหวังจะให้เขาได้เรียนรู้ในทางอ้อมว่าการที่จะมีความสุขได้เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย สิ่งที่จำเป็นก็มีเพียงข้าวของเครื่องใช้เพียงเล็กน้อยที่บรรจุได้ในเป้หลังหนึ่งใบ
และถ้าหากวันหนึ่งเราเป็นทุกข์เพราะความอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรที่นอกเหนือจากของในเป้ หวังว่าเขาจะรู้ได้ว่านั่นเป็นความทุกข์ใจที่ไร้ซึ่งความจำเป็น
คืนนั้นเรานั่งล้อมวงทานข้าวสวยหอมกรุ่นที่หุงด้วยเตาไฟและฝีมือของเด็กหนุ่มใต้แสงตะเกียงอุ่น ก่อนจะล้มตัวลงนอนเคียงข้างกันในเต๊นท์ที่เปิดโล่งเห็นดาวเต็มฟ้าด้วยคำถามในใจว่าชีวิตคนเราจะต้องการอะไรไปมากกว่านี้
และผมก็หลับไปก่อนที่จะนึกคำตอบได้แม้เพียงข้อเดียว
นัท ช่างภาพของเราแบกเลนส์ตัวใหญ่ออกไปซุ่มถ่ายไก่ฟ้าหางลายขวางซึ่งเป็นนกตัวเด่นของจุดนี้ตั้งแต่เช้ามืด ในขณะที่กิจกรรมยามเช้าของแค้มป์เริ่มต้นขึ้น
พอแดดเริ่มออก พ่อหลวงสมบูรณ์ก็เดินนำเราไปตามเส้นทางขึ้นดอยหลวง เด่นหญ้าขัดเป็นอีกจุดหนึ่งของเส้นทางสู่ยอดดอยหลวง แต่ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะชอบไปขึ้นทางปางวัวด้านตะวันออกกันมากกว่า
เส้นทางนั้นลัดเลาะไปตามไหล่เขาและดงสน ขึ้นบ้างลงบ้างแต่ไม่ถึงกับชันแต่ประดับประดาไปด้วยวิวงามตลอดสองข้างทาง
“จุดนี้เป็นขุนห้วยต้นน้ำแม่ก๊ะที่ไหลผ่านแค้มป์ของเราข้างล่าง ถ้าเราเดินมาเรื่อยๆจากที่บ้านใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงก็มาถึงนี่ได้”พ่อหลวงสมบูรณ์บอก
หลังจากเดินเล่นชมวิวในเส้นทางนั้นราวสองชั่วโมงเศษเราก็กลับออกมาเดินทางกันต่อ
จากเด่นหญ้าขัด เราย้อนออกมาทางเดิมประมาณห้ากิโลเมตรเราก็มาถึงทางแยก ที่จะไปแม่ตะมาน
ด้วยระยะทางไม่ไกลนักเราก็มาถึงหน่วยจัดการต้นนำ้แม่ตะมานซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาที่กั้นระหว่างห้วยน้ำดังและดอยหลวงเชียงดาวและนั่นก็หมายความว่าเราจะได้ชมวิวทั้งสองด้านไปพร้อมๆกัน ด้วยความสูงระดับกว่า 1,600 เมตร ทำให้เราเหมือนมาอยู่ในก้อนเมฆที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า
หลังจากขนข้าวของลงจากรถแล้ว เราก็ออกไปเดินเล่นกัน ห่างออกไปไม่ไกลแค่ระยะเดินถึงกันได้คือศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูงของคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศูนย์ฝึกนี้มีบ้านพักและลานกางเต๊นท์โล่งที่มองเห็นดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างเต็มตา ในพื้นที่เต็มไปด้วยต้นท้อที่จะออกดอกบานในเดือนพฤศจิกายนและต้นพญาเสือโคร่งที่จะออกดอกเต็มไปทั้งดอยในช่วงปลายเดือนธันวาคม
เช่นเดียวกับการที่ได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของดอยหลวง ที่นี่เราก็ได้เรียนรู้อีกมุมมองของการท่องเที่ยวธรรมชาติด้วย
ในค่ำคืนนั้นเรามีโอกาสได้ร่วมวงสนทนากับคุณกริชสยาม หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน และผู้ช่วยอีกหลายท่าน เมื่อได้คุยกับคนในพื้นที่ เราก็ได้รู้จักที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกหลายจุดในพื้นที่นี้
“ในพื้นที่ป่าผืนนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่งครับ หลายๆหมู่บ้านเริ่มมีการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์ มีเส้นทางเดินป่าระหว่างหมู่บ้าน ทุกวันนี้ก็มีบริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเดินป่ากันเป็นประจำครับ” นับเป็นความรู้ใหม่ที่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาเดินป่าที่นี่กันมากโดยที่คนไทยเราเองกลับไม่ได้ค่อยรู้จัก
“ผมอยากจะให้การท่องเที่ยวกระจายตัวออกไป ทุกวันนี้เห็นได้ชัดเลยครับว่าหมู่บ้านที่มีการท่องเที่ยวเข้าไปสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน หมู่บ้านนั้นจะมีการทำลายป่าน้อยลงอย่างมาก”
“ผมจะอธิบายความสำคัญของต้นก่ออย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าลูกๆเขายังไม่อิ่มท้อง เขาก็อาจจะเข้าใจครับ แต่เรื่องปากเรื่องท้องย่อมมาก่อน เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาสร้างรายได้ให้เขา เขาก็เริ่มเห็นความสำคัญของป่า ทุกๆอย่างก็ดีขึ้นมาก”
นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีผลดีโดยตรงต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม แต่เราจะทำอย่างไรการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เป็นไปได้อย่างสมดุลย์
ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นความจริงและเข้าใจอย่างหัวหน้ากริชสยาม นักอนุรักษ์จำนวนมากมายในประเทศนี้ี่ไม่เคยออกมาสัมผัสชีวิตจริง มาตรการอนุรักษ์ปกป้องพื้นที่หลายแห่งจึงออกมาในรูปของ “เขตอนุรักษ์ ห้ามเข้า”
ถึงแม้หลายปีมานี้ เราอาจจะมีกระแสอนุรักษ์ที่แรงขึ้น แต่หากคนส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและในป่าก็เพียงแต่พูดไปตามกระแสนั้นโดยไม่ได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและความรักธรรมชาติจากใจจริง การอนุรักษ์จึงเป็นแต่เพียงฉากหน้า แต่ในชีวิตจริงผู้คนมากมายในสังคมยังคงหยิบคว้าประโยชน์จากธรรมชาติกันอย่างมือใครยาวสาวได้สาวเอา
หากคนในเมืองไม่ได้เข้าไปสัมผัสแล้วก็คงจะยากที่จะให้เกิดความรักธรรมชาติอย่างจริงใจได้ ในขณะเดียวกันหากชุมชนในป่าไม่เคยได้รับประโยชน์อันใดเลยจากการอนุรักษ์มาเลี้ยงปากท้องของครอบครัว ก็คงจะยากที่การรักษาธรรมชาติจะเกิดขึ้น
อีกมุมหนึ่งด้านหนึ่ง หากการท่องเที่ยวทำไปอย่างไม่มีความเข้าใจ มุ่งเน้นผลประโยชน์และขาดจิตสำนึก ความสมบูรณ์งดงามของธรรมชาติก็คงจะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว
เรานั่งคุยกันยาวในเรื่องนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบแค้มปิ้งอาจจะช่วยกระจายรายได้เข้าถึงชุมชนในป่าได้ดีขึ้น ถึงแม้เราจะยังไม่มีสูตรสำเร็จที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่อย่างน้อยเราก็มีหมู่บ้านตัวอย่างที่เราจะได้แวะไปเยี่ยมชมกัน
ทะเลหมอกก่อตัวขึ้นหนาทึบ ปกคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไปทางห้วยน้ำดัง การนั่งจิบกาแฟร้อนๆ ทานอาหารเช้าพร้อมหน้ากันในครอบครัว และชมวิวงามราวกับภาพวาดเช่นนี้ก็นับเป็นรางวัลชีวิตสำหรับวันนี้แล้ว
จากหน่วยแม่ตะมานเราย้อนเส้นทางเดิมมาประมาณ 2 กิโลเมตรก่อนที่จะเลี้ยวขวาลงไปตามทางดินที่ลงดิ่งไปตามป้าย “บ้านปางใหม่”
เส้นทางนั้นลัดเลาะไปในป่าทึบ บางช่วงก็มีลำธารไหลอยู่ด้านข้าง บางครั้งเราก็ต้องวิ่งข้ามลำธารนั้นให้ได้สัมผัสกับสายน้ำใสและเย็นยะเยือก บางช่วงเราก็ผ่านไร่ชาของชาวบ้านที่แทรกตัวอยู่ในป่าใหญ่อย่างกลมกลืน
ด้วยระยะทาง 13 กิโลเมตรในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเราก็มาถึงหมู่บ้าแม่แมะ
หมู่บ้านแม่แมะตั้งอยู่กลางป่าใหญ่ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากหมู่บ้านอื่นที่เราเคยพบมาก็คือหมู่บ้านนี้ยังเต็มไปด้วยไม้ใหญ่ บ้านแต่ละหลังแทรกตัวอยู่กับต้นไม้เขียวขจีอย่างกลมกลืน แม้แต่ลานกว้างของหมู่บ้านก็ยังอยู่ใต้ร่มเงาของต้นกร่างยักษ์
พ่อหลวงวงศ์ แก้วใจมา ผู้นำชาวบ้าน พาเราเดินชมพื้นที่ ชาวบ้านแม่แมะปลูกบ้านเช่าในลักษณะที่พวกเราเรียกว่า “ลองสเตย์” ไว้หลายหลัง ความแตกต่างระหว่าง “ลองสเตย์” กับ “โฮมสเตย์”ในความหมายที่ผมเห็นได้ที่นี่ก็คือ “ลองสเตย์” เป็นบ้านที่ผู้เข้ามาพักจะได้อยู่อย่างเป็นส่วนตัวไม่ได้อยู่ปะปนกับเจ้าของบ้านแบบ “โฮมสเตย์”ทั่วๆไป
บ้านลองสเตย์ของแม่แมะ บ้างก็อยู่ในหมู่บ้านที่อยู่บนความชันของเชิงเขา มีวิวเปิดลงไปเห็นไร่ชาที่แทรกอยู่ในป่าและลำห้วยใสสะอาดที่ไหลผ่านหมู่บ้าน อีกหมู่หนึ่งก็อยู่ริมลำห้วยทางด้านล่าง
“เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักเราจะเอารายได้นี้ไปแบ่งปันกันเป็นรายได้ของชุมชน เจ้าของบ้านได้ไปส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นเราจะจัดเวรกันให้ชาวบ้านมาเป็นผู้ดูแลนักท่องเที่ยวพาเดินชมหมู่บ้าน และดูแลเรื่องอาหารการกินต่างๆ นอกจากนี้เราก็มีบริการอบและนวดสมุนไพรสำหรับคนที่สนใจ” พ่อหลวงอธิบายถึงการจัดการที่เป็นระบบของบ้านแม่แมะเพื่อให้รายได้กระจายไปทั่วถึงในหมู่บ้าน
“ไร่ชาเราปลูกกันแทรกอยู่ตามป่านี่แหละไม่ต้องถางป่า ต้นชานี่แหละส่งเด็กๆในหมู่บ้านเรียนจนจบมาหลายคนแล้ว” ผมสังเกตเห็นความภูมิใจอยู่ในรอยยิ้มนั้นของพ่อหลวง
“อาหารที่นี่ก็เสาะหาเอาตามธรรมชาตินะ แต่รับรองเลยว่าจะไม่เคยได้ชิมที่ไหนมาก่อน มีทั้งยำใบเมี่ยง (ใบชา), น้ำพริกปลาห้วย, ตำหางหวาย ฯลฯ” ธรรมชาติของบ้านแม่แมะยังดีอยู่มาก พืชผักในธรรมชาติเก็บกินได้ทั้งปีไม่มีสารพิษ ในห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปียังมีปลาให้หากินได้
“อิงตวงข้าวลงไปในหม้อก่อนนะครับ แล้วก็ตวงน้ำลงไป ข้าวหนึ่งน้ำสอง” เสียงลูกชายผมแว่วมา เขากำลังสอนให้น้องอิงเพื่อนต่างวัยของเขาหุงข้าวด้วยเตาน้ำมัน แม้วัยจะต่างกัน แต่จากการเดินทางร่วมกันมาหลายวัน ดูเหมือนมิตรภาพของทั้งสองคนจะแน่นแฟ้นขึ้นมาก
“จุดเตาอย่างนี้นะ นี่ดูพี่ปั๊ป จากนั้นก็เอาหม้อมาตั้งให้เดือด แล้วอิงต้องคอยคนข้าวด้วยนะ”
การหุงข้าวในแค้มป์อาจไม่ใช้เรื่องใหญ่โต แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเป็น พูดก็พูดเถอะเรื่องนี้คือความภูมิใจเล็กน้อยที่ได้ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวผมทุกครั้งที่เราออกมานอนป่ากัน หุงข้าวด้วยเตาไฟนั้นจะว่าไปก็เหมือนมิตรภาพ รีบร้อนไม่ได้ และต้องใส่ใจดูแล แค่เพียงเผลอไปเล็กน้อยก็ไหม้ติดก้นหม้อยากที่จะแก้ไข
ผมพาลูกชายเที่ยวป่าด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ผมได้เห็นจากการเติบโตของเขาแล้วว่าการเรียนรู้ของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่การกางเต๊นท์, หุงข้าว หรือจุดตะเกียง แต่หากคือมิตรภาพที่ปราศจากการเสแสร้ง และความหมายของชีวิตที่ดีแต่เรียบง่าย
ครั้งนี้เราเลือกที่จะไม่ปีนขึ้นดอยหลวง เพื่อค้นหามุมมองที่แตกต่าง แต่ความงามของยอดดอยสูงที่เราเฝ้ามองอยู่หลายวันนั้นก็เย้ายวนใจอยู่ไม่น้อย
“ปั๊ปครับ คราวหน้ามาเดินขึ้นดอยหลวงกับพ่อมั๊ย”
“ไม่ไหวมั๊งครับ” นายปั๊ปเบ้ปาก แต่ในสายตานั้นบอกผมว่าเขาคงจะมาปีนขึ้นดอยหลวงและอีกหลายๆดอยในวันข้างหน้า
สายลมเย็นที่พัดเอื่อยมาปกคลุมที่ราบเชิงเขานั้นเหมือนเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าฤดูหนาวกำลังมาแล้ว
ผมนั่งอยู่ที่ลานแค้มป์ในขณะที่ความมืดกำลังแผ่เข้ามาปกคลุม ความสงบนิ่งรอบตัวพาให้ใจล่องลอยไปตามความคิดคำนึงถึงหลายอย่างในชีวิตที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องราวนั้นก็คือ ชายผู้เคยพาผมมารู้จักกับการนอนกลางป่าเช่นนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เวลาเช่นนี้ของปีนี่แหละที่เรามักจะออกมานอนป่ากัน
ทำไมต้องเที่ยวป่า ทำไมต้องไปนอนแค้มป์ ชายผู้เคยพาผมมานอนป่าในวัยเด็กจากไปแล้วโดยไม่เคยบอกเหตุผลมาเป็นคำพูด แต่หากเมื่อได้มานอนกลางป่ากับลูกชายอีกครั้ง คำตอบก็ดูจะชัดเจนขึ้น
“พ่อครับ ผมคิดว่าผมเข้าใจแล้วครับ”
ตาเกิ้น
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท ฉบับเดือนธันวาคม 2552
เส้นทางการเดินทาง
เดินทางสู่อำเภอเชียงดาว : จากเชียงใหม่ เดินทางด้วยถนน 1096 ผ่านอำเภอสะเมิงไปยังอำเภอแม่ริม ที่แม่ริม เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 107 สู่อำเภอเชียงดาว
เดินทางสู่บ้านนาเลา: จากอำเภอเชียงดาว ใช้เส้นทางผ่านบ้านถ้ำเชียงดาววิ่งตรงไป ผ่านด่านป่าไม้ รวมระยะทาง 12 กิโลเมตรจากถ้ำเชียงดาว ถึงบ้านระเบียงดาว พิกัด GPS 19 24’59.67N, 98 50’43.00E :
เดินทางสู่หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด): จากอำเภอเชียงดาว ใช้เส้นทาง107 ย้อนสู่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 4.5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่ทางเข้าวัดจอมคีรี ไปตามเส้นทางดินประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านด่านป่าไม้ไปแล้ว จะถึงทางแยกขวาไปหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก อีก 4 กิโลเมตร พิกัด GPS 19 22‘25.22N, 98 50‘6.41E
การเดินทางสู่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน: จากหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ย้อนออกทางเดิม 4 กิโลเมตร มาถึงทางแยก เลี้ยวขวาไป 3.6 กิโลเมตร พิกัด GPS 19 19 8.75, 98 49 47.37 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูงของคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่เลยไปประมาณ 300 เมตร
การเดินทางสู่บ้านแม่แมะ: จากหน่วยแม่ตะมาน ย้อนออกทางเดิมประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามป้ายบ้านปางใหม่ ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร พิกัด GPS 19 19 9.76, 98 53 23.45 ขากลับสามารถเดินทางสู่อำเภอเชียงดาวได้โดยตรงต่อไปบนทางเส้นเดิมระยะทาง 11 กิโลเมตร
ที่พัก
Park & Camp เชียงดาว บริการที่พักกางเต๊นท์ส่วนตัว มีทั้งหมด 8 จุด ควรจองที่พักล่วงหน้า ติดต่อ พ่อหลวงสมบูรณ์ คำวัน โทรศัพท์ 081-952-4399 หรือดูรายละเอียดที่ www.thailandoutdoor.com/camp
บ้านนาเลา
บ้านระเบียงดาว มีบ้านพัก 5 หลัง ไม่มีบริการอาหาร ควรนำอุปกรณ์และอาหารไปเองและจองที่พักล่วงหน้า ติดต่อคุณนิคม โทรศัพท์ 089-9030083 , 089-9980712
หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก:ที่หน่วยมีลานกางเต๊นท์ แต่ควรนำอุปกรณ์และอาหารไปเอง
หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน: มีบ้านพักจำนวนจำกัด ติดต่อล่วงหน้าที่ หน่วยจัการต้นน้ำ(ห้วยแก้ว) โทรศัพท์ 053-214-577
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูงของคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: บริการที่กางเต๊นท์ ติดต่อ โทรศัพท์ 053-944-052
ลองสเตย์บ้านแม่แมะ ติดต่อจองล่วงหน้าที่พ่อหลวงวงศ์ แก้วใจมา โทรศัพท์ 053-315 666, 053-388 405, 085-708-2648 หรือ ลุงสุข 053-317-090
อาหารการกิน
ในอำเภอเชียงดาวมีอาหารอร่อยขึ้นชื่อหลายแห่ง
ขาหมูเชียงดาว: เป็นที่รู้จักกันมานาน ร้านขาหมูเสวย อยู่บนถนนเส้นหลักกลางเมืองเชียงดาวใกล้ เซเว่นอีเลเว่น
ร้านสเต๊กเชียงดาวเนสต์: เสริฟอาหารตะวันตกมีทั้งสเต๊กและพาสต้า ร้านสวยบรรยากาศดี สเต๊กอร่อย อยู่บนเส้นทางไปยังถ้ำเชียงดาว ร้านอยู่ทางด้านขวามือ
ร้านลาบนงลักษณ์: ร้านอาหารพื้่นเมืองที่ไม่ควรพลาด จุดเด่นอยู่ที่ผักพื้นบ้านสารพัดชนิด และเครื่องเคียงแบบเหนือแท้เช่น เมล็ดข่าดอง, กระเทียมดอง, พริกดอง ฯลฯ ที่รสชาดไม่เหมือนที่ไหน อยู่บนถนนสายหลัก 107 วิ่งย้อนไปทางเชียงใหม่ประมาณ 1 กิโลเมตร ร้านอยู่ทางซ้ายมือ
ขอขอบคุณ
-คุณกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน
-คุณนิคม พุทธา ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว
-อุปกรณ์แค้มปิ้งจาก ร้าน ThailandOutdoor Shop 084-388-2007 www.ThailandOutdoor.com